การจับคู่สี

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสีนั้น เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกราฟิกลง facebook page ไปจนถึงการวาง CI หรือ corporate identity ให้กับองค์กร ก็ล้วนมีการใช้สีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น 

นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว แต่ละสีนั้นมีความหมายของตัวมันเองในเชิงจิตวิทยาที่สามารถสงผลต่อพฤติกรรมของผู้รับสารได้ เช่น สีเขียว และสีแดงที่ถูกใช้ในตลาดหุ้นเมื่อราคาหุ้นขึ้นหรือลง เพราะฉะนั้นนอกจากการเลือกสีให้สวยงามแล้ว นักออกแบบยังต้องคำนึงถึงเรื่องของการสื่อความหมายของแต่ละสีอีกด้วย ดังนั้นวันนี้ Foretoday จะมาแนะนำวิธิการจับคู่สีรูปแบบต่างๆ และความหมายของแต่ละสีในเชิงจิตวิทยา

 

ทฤษฎี และการจับคู่สี

 

  • Color wheel | วงล้อสี

ก่อนจะไปไหนไกล เรามารู้จักเครื่องมือที่สำคัญมาก ๆ อย่างวงล้อสีกันก่อน Isaac Newton ได้สร้างวงล้อสีจากการผสมแม่สี 3 สี หรือก็คือ Primary Colors สีที่เกิดจากการผสมแม่สีเข้าด้วยกัน เราเรียกว่า Secondary Colors และสีที่เกิดจากการผสมแม่สีและ Secondary Colors เข้าด้วยกัน เรียกว่า Tertiary Colors

 

  • Color harmony

ผ่านเรื่องวงล้อสีกันไปแล้วก็มาเข้าเรื่องการจับคู่สี หรือ Color Harmony กันดีกว่า! ในทฎษสีมีการจับคู่สีหลายรูปแบบ ในบทความนี้เราเลือกรูปแบบที่จะได้ใช้บ่อย ๆ มาเล่าให้ฟังกัน!

 

  • Monochromatic

การใช้สีแบบ monochromatic คือการเลือกใช้สีเพียงสีเดียวในวงล้อสี แล้วปรับความเข้มและอ่อนของสีนั้น ๆ รูปแบบนี้สีจะตัดกันน้อย และดูเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

  • Analogous

รูปแบบนี้จะเลือกใช้สี 3 – 5 สีที่อยู่ติดกันในวงล้อสี เป็นรูปแบบที่ใช้ง่ายที่สุด เพราะสีจะไม่ตัดกันมากนัก ให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนกับ Monochromatic แต่ดูน่าสนใจมากกว่าด้วยการใช้สีที่แตกต่าง

 

  • Complementary

Complementary คือการจับคู่สีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงล้อสี รูปแบบนี้จะเห็นสีตัดกันได้ชัดเจนที่สุด พบได้บ่อยในงานประเภท Pop Art เพราะทำให้งานดูเด่น อาจจะใช้งานยากกว่าสองรูปแบบก่อนหน้า ไปสักนิดเพราะเราต้องระวังความเข้มและสัดส่วนของทั้งสองสีให้ดี ไม่ให้ตัดกันจนเกินไป ใช้สีหนึ่งเป็นสีหลัก แล้วใช้สีคู่ตรงข้ามกับจุดที่ต้องการความโดดเด่น

 

 

  • Split-complementary

รูปแบบนี้คล้ายกับ Complementary แตกต่างกันเพียงแยกสีฝั่งหนึ่งออกเป็นสองสีที่ติดกัน Split-complementary จะให้คุณได้ลองใช้สีหลากหลายในทีเดียว ยิ่งเราเพิ่มสีลงในงานมากขึ้น การทำให้งานดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็จะยากขึ้นไปด้วย แนะนำให้ใช้สี Analogous เป็นสีหลัก แล้วเพิ่ม Contrast (ความต่างของสี) ด้วยสีคู่ตรงข้าม

 

 

  • Triad

การใช้สีสามสีที่เชื่อมกันเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่าในวงล้อสีเรียกว่า Triad รูปแบบนี้จะให้ความรู้สึกชัดเจนเป็นพิเศษ เป็นตัวเลือกที่ดีหากคุณอยากได้งานที่น่าสนใจและโดดเด่น อย่างไรก็ตาม ถ้าทั้งสามสีมีความเข้มและสัดส่วนเท่ากันหมด อาจแย่งกันเป็นจุดสนใจ ผู้เห็นก็ไม่รู้จะมองส่วนไหนก่อนดี ลองเลือกสีใดสีหนึ่งเป็นสีหลัก แล้วใช้อีกสองสีรองเป็นจุด ๆ ไป อาจเพิ่มสีขาวและสีดำเพื่อลดความสดของสี และทำให้งานดูสบายตาขึ้น

 

อ้างอิงจาก

https://www.foretoday.asia/articles/color-theory/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *